กฎหมายอาญา 2

กฎหมายอาญา 2 ภาคความผิด
หน่วยเน้นของกฎหมายอาญา 2 ของเทอมนี้ หน่วยที่ 2,4,6,7,11,12
แบ่งเนื้อหาได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน (หน่วยที่ 2) และความผิดที่เกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน (หน่วยที่ 4)
หัวข้อที่ 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน อย่าลืมดูว่าเจ้าพนักงานหมายถึงบุคคลใดบ้าง
(1) ความผิดที่กระทำต่อเจ้าพนักงาน มาตรา 136*(แจ้งความเท็จ),137*(ดูหมิ่น),138, 139, 143**, 144**** (ให้สินบนเจ้าพนักงาน ควรดูควบคู่ไปกับมาตรา 149**** ด้วย)
(2) กรณีเจ้าพนักงานกระทำความผิด มาตรา 147**(ออกข้อสอบเมื่อภาคการศึกษาที่แล้ว), 148****, 149****(เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างมาตรา 148 + 149 ให้ดี) , 157*
หัวข้อที่ 2 เรื่องความผิดที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
(1) ความผิดฐานอั้งยี่ (มาตรา 209**) และความผิดฐานซ่องโจร (มาตรา 210****) ดูแล้วเปรียบเทียบความแตกต่างให้ได้ ความผิดฐานซ่องโจรเพียงแต่สมคบกันเกิน 5 คน เพื่อกระทำความผิดตามภาค 2 ของ ปอ. แม้ความผิดนั้นยังไม่ได้กระทำลง ก็เป็นความผิดฐานซ่องโจรแล้ว
(2) ความผิดฐานชุมนุม ก่อความไม่สงบ หรือความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215***, 216*** (เปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างมาตรา 215 และ 216 ให้ดี)
(3) ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217* (ดูเหตุฉกรรจ์ มาตรา 218), 219 (การตระเตรียมการวางเพลิงก็ถือว่าเป็นความผิด รับโทษเท่าการพยายามวางเพลิง), 220***(ความผิดโดยเจตนา ทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการวางเพลิงเผาทรัพย์), 224*(ผลธรรมดาเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย), 225***(ความผิดโดยประมาท)
(4) ความผิดฐานปลอมปน ตามมาตรา 236 และมาตรา 237

กลุ่มที่ 2 ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย (หน่วยที่ 6,7)
หัวข้อที่ 1 เรื่องความผิดต่อชีวิต (หน่วยที่ 6) มาตราที่ควรให้ความสนใจ
(1) มาตรา 288 (ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา)
(2) มาตรา 289 (เหตุฉกรรจ์ของมาตรา 288)
(3) มาตรา 290 (ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นความผิดที่ต้องการผล จึงไม่มีการพยายามการกระทำความผิด)
(4) มาตรา 291 (ประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เวลาตอบข้อสอบต้องอ้างมาตรา 59 วรรค 4 ด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าเหตุใดจึงเป็นประมาท)
(5) มาตรา 292-293**** (ยุยงให้ผู้อื่นฆ่าตนเอง เปรียบเทียบความแตกต่างของ 2 มาตรานี้ให้ดี) และดูต่อไปด้วยว่าเมื่อใดถือว่าเป็นความผิดสำเร็จ
(6) มาตรา 294**** (ชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเหตุยกเว้นโทษ)
นอกจากนี้ควรดูความผิดลหุโทษ มาตรา 374 เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกับมาตรา 288 ด้วย (ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่จักต้องทำเพื่อป้องกันผลนั้น ตามมาตรา 59 วรรคท้าย)

หัวข้อที่ 2 เรื่องความผิดต่อร่างกาย (หน่วยที่ 7) มาตราที่ควรให้ความสนใจ
(1) มาตรา 295** ทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
(2) มาตรา 296 (เหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 290 + 295),
(3) มาตรา 297**** (อันตรายสาหัสทั้ง 8 อนุมาตรา)
(4) มาตรา 299** (ชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส) และดูเหตุยกเว้นโทษด้วย
(5) มาตรา 300**(ประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสแก่กาย)
นอกจากนี้ให้ดูไปถึงความผิดลหุโทษตามมาตรา 391 เป็นการใช้กำลังทำให้บาดเจ็บโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และมาตรา 390 เป็นการกระทำโดยประมาทเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ

กลุ่มที่ 3 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ (หน่วยที่ 11,12)
(1) ลักทรัพย์ (มาตรา 334****) เหตุฉกรรจ์ของการลักทรัพย์ (มาตรา 335*) วิ่งราวทรัพย์ (มาตรา 336*** = ลักทรัพย์ + ฉกฉวยซึ่งหน้า)
(2) กรรโชกทรัพย์ (มาตรา 337 เปรียบเทียบกับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 ด้วย) รีดเอาทรัพย์ (มาตรา 338) ชิงทรัพย์ (มาตรา 339 = ลักทรัพย์ + ทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งต้องแยกออกจากความผิดฐานลักทรัพย์ + ทำร้ายร่างกาย) และปล้นทรัพย์ (มาตรา 340 = ชิงทรัพย์โดยมีตัวการมากกว่าหรือเท่ากับ 3 คนขึ้นไป)

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานต่างๆ ข้างต้นต้องอ่านจนเข้าใจ และสามารถเปรียบเทียบความผิดแต่ละฐานได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ทุกฐานความผิดต้องเข้าใจความผิดฐานลักทรัพย์ (มาตรา 334) เป็นพื้นฐาน

คำแนะนำในการตอบข้อสอบอัตนัยกฎหมายอาญา 2
1. ข้อสอบจะถามว่านาย…… กระทำความผิดฐานใด ตอบฐานความผิดให้ชัดเจน อย่าตอบแบบเหวี่ยงแหหรือแสดงความไม่มั่นใจในการตอบ เช่น ตอบว่านาย…. มีความผิดฐานฉ้อโกง หรือผิดฐานยักยอกทรัพย์ อย่างนี้จะไม่ได้คะแนน อย่าตั้งชื่อฐานความผิดขึ้นมาเอง ชื่อฐานความผิดที่ถูกต้องให้ดูในเอกสารการสอน
2. การอ้างหลักกฎหมาย จะอ้างเป็นข้อความตามที่ปรากฏใน ปอ. หรือจะแจกแจงองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน (เจตนา เจตนาพิเศษ ประมาท) ก็ได้ ไม่ต้องระบุโทษ และถ้าจำเลขมาตราไม่ได้ ไม่ต้องใส่ลงไป ถ้าอ้างเลขมาตราผิด ก็จะเสียคะแนนอีก
3. บางครั้งการตอบข้อสอบ ก็ต้องอ้างความรู้ตามกฎหมายอาญา 1 ด้วย เช่น นาย….. ไม่มีความผิดฐาน…… เนื่องจากผู้กระทำไม่รู้องค์ประกอบภายนอกของความผิดฐาน……. จึงถือว่าไม่มีเจตนาตามมาตรา 59 วรรค 3 หรือผู้กระทำความผิดกระทำการไม่ตลอด หรือกระทำการไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล ถือว่าเป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องได้รับโทษ 2 ใน 3 ส่วนของความผิดที่ได้กระทำลง ตามมาตรา 80 หรือในกรณีที่เป็นการกระทำโดยประมาท ก็ควรอ้างด้วยว่าเป็นการกระทำโดยประมาทอย่างไรตามมาตรา 59 วรรค 4 เป็นต้น
4. นอกจากมาตราที่เน้นให้ข้างต้นแล้ว ควรดูคำพิพากษาฎีกาในเอกสารการสอนมากๆ เพราะข้อสอบหลายๆครั้งนำมาจากคำพิพากษาในเอกสารการสอนนั่นเอง
5. เทปเสียงประจำชุดวิชา ซึ่งเป็นเสียงของอาจารย์สุจินตนา ชุมวิสูตร ซึ่งมี 4 ม้วนนั้น และเอกสารสอนเสริมทั้ง 2 ครั้ง สามารถนำมาใช้ทบทวนได้ดีมาก ฟังและอ่านบ่อยๆ ก็จะจำได้เอง

โดยทั่วไปวิชานี้ไม่ใช่วิชาที่ยากของสาขานิติศาสตร์ มสธ. ถ้าอ่านหนังสือ ดูตัวบทที่สำคัญจนสามารถอ้างได้ ก็จะสามารถสอบผ่านได้โดยง่าย ขอให้โชคดีครับ

ใส่ความเห็น